วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้หรือไม่....

ครอบครัวยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน กําลังอยู่ในความสนใจของนานาประเทศ เนื่องจากต่างได้รับผลกระทบโดยทั่วกันประเทศต่างๆ เริ่มหันมาสนใจและตระหนักถึงภัยพิบัติของโลกร้อนและวิธีลดโลกร้อน เราทุกคนสามารถช่วยโลกนี้ได้ ก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของคุณเพียงเล็กน้อย สามารถช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนหรือช่วยชะลอให้ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนี้


การใช้เชื้อเพลิง • ขับรถยนต์ส่วนตัวให้น้อยลง ด้วยการปั่นจักรยาน ใช้รถโดยสารประจำทาง หรือใช้การเดินแทนเมื่อต้องไปทำกิจกรรมหรือธุระใกล้ๆ บ้าน
• ไปร่วมกันประหยัดน้ำมันแบบ Car Pool นัดเพื่อนร่วมงานที่มีบ้านอาศัยใกล้ๆ นั่งรถยนต์ไปทำงานด้วยกัน ช่วยประหยัดน้ำมัน และยังเป็นการลดจำนวนรถติดบนถนน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมด้วย
• เลือกซื้อรถยนต์ที่มีขนาดตามความจำเป็น โดยพิจารณาจากขนาดครอบครัวและประโยชน์การใช้งาน รวมทั้งพิจารณารุ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
• ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเลือกรถโฟว์วีลขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ เพราะกินน้ำมันมาก และตะแกรงขนสัมภาระบนหลังคารถก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะเป็นการเพิ่มน้ำหนักรถให้เปลืองน้ำมัน
• ขับรถอย่างมีประสิทธิภาพ ในระยะทางไกลการขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
• เปลี่ยนมาใช้พลังงานชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล เอทานอล ให้มากขึ้น
• วางแผนการเดินทางทุกครั้งก่อนออกรถ เพื่อจะได้ไม่ต้องขับวนไปวนมาคิดซ้ายคิดขวาว่าจะไปทางไหนดี
• เช็กลมยางเป็นประจำ การขับรถที่ยางลมมีน้อยอาจทำให้เปลืองน้ำมันได้ถึง 3% จากภาวะปกติ
•  นำรถเข้าอู่เป็นประจำ เพื่อเช็คสภาพและการทำงานต่าง ๆ ของรถ

การใช้ไฟฟ้า• ติดตั้งฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดานบ้าน เพื่อลดความร้อนและทำให้บ้านเย็น
• ติดตั้งระบบไฟฟ้าหมุนเวียนภายในบ้าน
•  นำแสงธรรมชาติมาใช้ในอาคารบ้านเรือน โดยใช้การออกแบบบ้าน และตำแหน่งของช่องแสงเป็นปัจจัย ซึ่งจะช่วยลดจำนวนหลอดไฟและพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้
• ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน เช่น หลอดไฟประหยัดพลังงาน เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดเครื่องหมายประหยัดไฟเบอร์ 5 และควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเก่าๆ ที่มักจะกินไฟและประสิทธิภาพไม่ดีอีกด้วย
• ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และถอดปลั๊กทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน
หากคุณต้องเปิดไฟในสวนหน้าบ้านทุกคืน ควรใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ชาร์จพลังงานตอนกลางวัน และเปิดไฟตอนกลางคืน
• ในฤดูหนาวควรเปิดหน้าต่างให้ความเย็นเข้ามาในห้องตอนกลางคืน และปิดหน้าต่างตอนเช้า เพื่อให้ความเย็นภายในห้อง ไม่ถูกแทนที่ด้วยความร้อนจากแสงแดดตอนกลางวัน   
• เปิดแอร์ที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่าที่ 25 องศาเซลเซียส เนื่องจากหากตั้งอุณหภูมิให้สูงขึ้นทุก 1 องศา จะประหยัดไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 10
• ใช้แสงแดดให้เป็นประโยชน์ ในการตากเสื้อผ้าที่ซักแล้วให้แห้ง ไม่ควรใช้เครื่องปั่นผ้าแห้งหากไม่จำเป็น เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้า
• เสื้อผ้าน้อยชิ้นควรซักเองด้วยมือ ส่วนเครื่องซักผ้าควรใช้ในวันที่มีเสื้อผ้าเต็มตะกร้า
• ถอดสายชาร์จโทรศัพท์มือถือออกจากเบ้าเสียบทุกครั้งที่ชาร์จเสร็จ เพราะมันกินไฟโดยเปล่าประโยชน์
• ตั้งตู้เย็นให้ห่างจากผนังด้านละประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อให้ได้ระบายความร้อนได้สะดวก
• ละลายน้ำแข็งในตู้เย็นเป็นประจำ และทำความสะอาดตู้เย็นทุกสัปดาห์
• อย่าเปิดตู้เย็นทิ้งไว้เป็นเวลานานเกินไป เพราะจะทำให้ความเย็นระบายออกมาหมดและทำให้ตู้เย็นทำงานหนัก กินไฟมาก
• ไม่ควรนำอาหารอุ่น ๆ หรือร้อนแช่ตู้เย็นเป็นอันขาด ควรวางไว้ให้เย็นก่อนแล้วค่อยนำเข้าตู้เย็นอีกครั้ง และหลีกเลี่ยงการนำถุงพลาสติกใส่ของในตู้เย็น เพราะจะทำให้ตู้เย็นจ่ายความเย็นได้ไม่ทั่วถึงอาหาร
ซื้ออาหารที่มีในท้องถิ่น เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องซื้อในปริมาณเยอะ ๆ แล้วนำมาตุนไว้ในช่องแช่แข็งจนไม่มีที่ว่าง


ติมตามต่ออาทิตย์หน้า...

ที่มา; http://www.environnet.in.th/

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Save world for happines


ท่ามกลางภัยธรรมชาติมากมายที่เกิดขึ้นรอบโลกในช่วงห้าปีหลังที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้ชาวโลกได้รู้ว่าเราได้ทำลายธรรมชาติมากเกินสมดุล และเวลาแห่งการปรับตัวของโลกเพื่อคืนสมดุลกลับมานั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
จากสถิติในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เราได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไปแล้วถึงหนึ่งในสามของทั้งหมดที่เรามีอยู่ นั่นรวมถึงสัตว์ พืช แร่ธาตุ และพลังงาน ต่างๆ ที่เปรียบเสมือนฟันเฟื่องของเวลาที่เหลืออยู่ของโลกใบนี้ต้องหมุนนับถอยหลังเร็วขึ้น
แม้ทุกคนจะตระหนักได้ดีถึงการเตือนภัยนี้ แต่ก็ยังมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อยากจะเข้ามาใส่วนร่วมอย่างจริงจังในการชะลอเวลาหรือบรรเทาปัญหาของโลกใบนี้ให้น้อยลง อาจเนื่องมาจากปัญหาที่ใหญ่มากเกินกว่าความรู้ของเราที่จะเข้าถึง ซับซ้อนเกินกว่าจะมีเวลามาสนใจ หรือการจะช่วยโลกเนี่ยมันยากขนาดนี้ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นแล้วกัน ไม่เว้นแต่ตัวผมเองที่รู้สึกว่าจะมาทำอะไรกันเฉพาะวันสำคัญวันหนึ่งพอเลิกเห่อแล้วก็ลืม ไม่ทำดีกว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เราหันไปให้ความสำคัญกับเรื่องบ้าบอวัตถุนิยมการเมืองนามธรรม ที่ดูแล้วจะมีคุณค่ากว่าซึ่งไม่จริงเลย เพราะถ้าโลกยังไม่สงบเต็มไปด้วยภัยธรรมชาติที่ยากจะคาดเดาแล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรจริงไหม
บางคนอาจะคิดแตกออกไปอีกว่า แล้วมันจะแก้ปัญหาทันหรอ บอกได้เลยว่ามันจะสะสมนานมาก นักวิทยาศาสตร์หลายท่านการันตีว่าไม่ทัน แต่สามารถบรรเทาได้ คำถามต่อไปคือ ถ้าสุดท้ายก็ไม่ทันแล้วจะทำเพื่ออะไร เอาให้มันเต็มที่ ใช้พลังงานให้หมดให้มันคุ้มค่าไปเลยดีกว่า อยากจะบอกว่าอย่าใจร้อนตัดสินอนาคตของตัวเองและลูกหลานด้วยอามรมณ์ชั่ววูบ มนุษย์เราควรจะมีความหวัง เพราะหนทางแห่งการบรรเทานั้นก็ช่วยยืดเวลาให้คนรุ่นต่อไปได้นำความรู้ใหม่ๆมาปรับจูนโลกของเราได้
ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้ต้องการจะบอกให้ทุกคนมาเรียนวิทยาศาสตร์หรือออกจากงานมากู้โลก แต่อยากนำเสนออีกมุมมองที่เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว พร้อมแล้วไปดูกันเลยดีกว่าว่าสองมือเล็กๆของเราจะช่วยโลกใบใหญ่ด้วยวิธีไหนได้บ้าง

01
การดื่มน้ำอัดลมนอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังเพิ่มปริมาณขยะในประเภทของขวดให้กับโลกใบนี้ถึงปีละ 1.3 แสนล้านขวดต่อปี ซึ่งต้องใช้วิธีกำจัดด้วยการฝังกลบและเผาด้วยเตาความร้อนสูง ส่งผลให้เป็นสาเหตุของอุณหภูมิโลกสูงขึ้นได้

02 ถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ทั่วโลก เราใช้มัน หนึ่งล้านถุงทุกๆหนึ่งนาที คิดเป็นปีละหนึ่งล้านล้านใบและในหนึ่งปีคนไทยใช้ถุงพลาสติกนำมาต่อกันได้ระยะทางไปกลับดวงจันทร์ถึงเจ็ดรอบ จากข้อมูลจำนวนที่กล่าวไป ถ้าคิดว่าเยอะแล้ว มาดูกันว่าการย่อยแบบปกตินั้นต้องใช้เวลามากถึง 450 ปี ฉะนั้นการใช้ถุงผ้าสัปดาห์ล่ะหนึ่งวัน จะช่วยลดการให้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 100 ล้านถุงต่อปี

03 ลองเปลี่ยนมาทานอาหารมังสวิรัติอาทิตย์ละวัน นอกจากจะช่วยให้สุขภาพดี ระบบย่อยไม่ทำงานหนักแล้ว ยังสามารถทำให้โลกน้อยลงด้วย เพราะสัตว์เช่นวัวที่เราเอาเนื้อมาประกอบอาหารนั้น ในกระบวนการเลี้ยงจะก่อแก็สมีเทนซึ่งส่งผลให้โลกร้อนได้โดยตรง และยังสิ้นเปลืองทรัพยากรในการเลี้ยงดู รวมถึงวิธีการขนส่งที่สูงกว่าพืชผักผลไม้ด้วย

04 หลายคนเป็นโรคคล้ายกันระบาดไปทั่วคือ ตืดจอคอมพิวเตอร์ ใช้บ่อยจนไม่อยากปิดเครื่อง ซึ่งนอกจากจะไม่ดีต่ออายุการใช้งานแล้วยังเปลืองพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย เพราะถ้าเราใช้คอมพิวเตอร์แค่วันละแปดชั่วโมงจะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 810 กิโลวัตต์ต่อปี สรุปลดไปได้ 67%  ต่อปี คำนวณเล่นๆแค่ลดค่าไฟที่ต้องจ่ายก็เหลือเงินไว้กินขนมได้หลายมื้อเลย

05 การเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ไม่ฟอกสีจะช่วยลดพลังงานในการผลิตได้ถึง 50% ต่อตัว และสารเคมีที่ใช้ฟอกจะไม่เป็นอันตรายต่อคนย้อม คนใส่ และสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าวัยรุ่นคนไหนจะซื้อเสื้อใหม่ลองเปลี่ยนไปเป็นผ้าที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรกับธรรมชาติ ก็สบายใจหายห่วงได้

แม้จะมีคำทำนายมากมายของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เป็นข่าวร้ายของโลก แต่ตราบใดที่มันยังไม่เกิดเราทุกคนก็ยังมีหวัง มีหนทางที่จะบรรเทาปัญหาของโลกได้ ด้วยการเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเพราะมันทำได้ง่าย ทำได้ทันทีและไม่เสียเวลามากมายนัก หรือแม้แต่ถ้ามันเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้น มนุษย์ก็ควรจะเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติอย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ขาดความเคารพและพยายามเอาชนะธรรมชาติ มิเช่นนั้นวันที่จะได้เห็นมนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกันอย่างสันติคงไม่มีทางเกิดขึ้น คล้ายกับช่วงเวลานี้ที่เหมือนธรรมชาติจะโกธรและส่งภัยธรรมชาติไปเกือบทุกพื้นที่โดยไม่แคร์สถิติที่ผ่านมาเลย




ที่มา: นิตยสาร miracle of life

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ใช้ชีวิตอย่างไรในภาวะ 3 วิกฤติ : พลังงาน ข่าวสาร อาหาร

เคยตั้งคำถามกับตัวเองกันไหมว่า
เรา เป็นคนหนึ่งที่ผลิตขยะถุงพลาสติกทุกครั้งที่เดินออกจากร้านสะดวกซื้อหรือเปล่า?
เรา เป็นคนหนึ่งที่ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกอาทิตย์หรือเปล่า?
เรา เป็นคนหนึ่งที่ปล่อยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนเพราะความขี้เกียจของตัวเองหรือเปล่า?

คำถามข้างต้นคงเป็นเพียงคำถามธรรมดาๆ หากไม่มีใครคิดถึงอนาคตของการกระทำนั้นว่า เศษเสี้ยวของถุงพลาสติกใบน้อยอาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์สัตว์ทะเล กองเสื้อผ้าอาจทำให้ดินเป็นพิษจนไม่มีที่ปลูกข้าวกินอีกต่อไป เครื่องปรับอากาศที่เปิดตลอดเวลาอาจเกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติอันรุนแรง ฯลฯ

แน่นอนว่า “การบริโภค” ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่คงดีไม่น้อยหากเรารู้จักตั้งคำถามกับการบริโภคนั้นว่ามันจำเป็นแค่ไหน และจะส่งผลกระทบถึงใครหรืออะไรรอบตัวบ้าง
ด้วยมุมมองจากผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านพลังงาน ข่าวสาร และการเกษตร อาจช่วยตอบคำถามให้เราได้ชัดเจนขึ้น

-1-
วิกฤติพลังงาน : ความท้าทายของคนยุคนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พลังงาน” ได้กลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนยุคใหม่แล้ว สิ่งของทุกอย่างรอบตัวแทบทุกอย่างต้องใช้พลังงานมากมายในการผลิต แต่โลกปัจจุบันการบริโภคกับปริมาณพลังงานดูจะสวนทางกัน เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ท้าทายมนุษย์ทุกคนให้ต้องหันมาวางแผนการใช้พลังงานอย่างมีสติ

เรื่องนี้ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายพลังงาน ได้ชี้ให้เห็นถึงแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในบ้านเราที่มีแผนจะสร้างมาหลายปีแล้ว แต่มีอันต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเพราะเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น

“เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องของการบริโภค จริงๆ แล้ว สิ่งที่รัฐบาลวางแผนไว้ว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง 5 พันเมกะวัตต์ ถ้ามองตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ โรงไฟฟ้า 5 โรงนี้ก็จะเพียงเท่ากับประมาณร้อยละ 10 ของการบริโภค

ถ้าพูดในมุมกลับกันคือ มันเป็นโจทย์ท้าทายคนไทยว่า ถ้าเราลดการบริโภคลงได้ร้อยละ 10 จำนวนนี้คือจากที่คิดว่ามันจะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่จากปัจจุบัน ก็แปลว่าเราไม่จำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง ผมไม่ได้จะไปคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ผมกำลังบอกว่าเดิมพันของการที่เราจะใช้ชีวิตบริโภคอย่างรู้จักวางแผน มันมีเดินพันที่ใหญ่มาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่ละโรงใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้าบาท ถ้าเราไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เราก็จะประหยัดไปได้ 5 แสนล้านบาท ซึ่ง 5 แสนล้านบาทนี้เราสามารถที่จะไปใช้ลงทุนอย่างอื่นได้

“แต่ถ้าเราทำไม่สำเร็จ รวมทั้งถ้าเราไม่มีพลังงานทางเลือกอื่นมาเสริม แน่นอนว่าเราก็อาจจะต้องก้าวไปสู่จุดที่จำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้าประเภทนี้ซึ่งมันมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราสามารถบริหารพลังงานขณะนี้ให้ดี ขณะเดียวกันก็พัฒนาพลังงานหมุนเวียน มันก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่าเราจะมีทางเลือกอื่นนอกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในระยะเวลา 20 ปีนี้ได้อย่างไร

“การวิเคราะห์ขององค์การพลังงานนานาชาติ ก็เขียนออกมาชัดเจนว่าถ้าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็อยู่ในระยะ 20-30 ปี พ้นจากนี้ก็ไม่ต้องกังวลแล้ว คือ เขาไม่เลือกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว มันจะมีรูปแบบอื่นๆ เข้ามาทดแทนนิวเคลียร์ได้ เพียงแต่ว่าใน 20 ปีนี้ มันยังไม่มี การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพนี่ล่ะที่เป็นการเดิมพันว่าเราจะหลีกเลี่ยง ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน 5 แสนล้านได้หรือไม่”


และทุกครั้งเมื่อเราพูดถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วเราไม่ต้องเปิดแอร์หรือ ไม่ต้องใช้ไฟหรือ ใช้คอมพิวเตอร์ได้หรือเปล่า ซึ่ง ดร.เดชรัตเน้นว่า เราสามารถใช้ของเหล่านี้ได้ แต่ต้องใช้อย่ามีสติและใช้อย่างฉลาดด้วย รวมทั้งยกตัวอย่างการออกแบบให้อาคารที่ช่วยประหยัดพลังงานไปหลายเท่าตัว

“ขณะนี้ห้างสรรพสินค้าทั่วไปใช้ไฟฟ้าประมาณ 500 หน่วยต่อตารางเมตรต่อปี แต่ในอาคารที่ออกแบบอย่างดี อาคารขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์ราชการ สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีการออกแบบกันความร้อน ใช้แสงธรรมชาติ จะใช้ไฟประมาณ 100 หน่วยต่อตารางเมตรต่อปี จะเห็นว่ามันสามารถลดลงมาได้มากทีเดียว

“โจทย์นี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ เพราะว่าการก่อสร้างใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด เห็นห้างสรรพสินค้าไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็เป็นการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งเราก็ไม่ได้คัดค้านอย่างใด แต่ต้องให้การก่อสร้างเหล่านี้เป็นไปในลักษณะที่ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าเกิดไม่ออกแบบให้มีประสิทธิภาพ ปัญหาก็จะพ่วงไปอีกยาว มันอยู่ที่ว่าเราจะออกแบบอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเราก็อยู่สบายด้วย

“ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของคนไทยเรา บางจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ระยอง สมุทรสาคร ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 10 ตันต่อคนต่อปี ขณะที่จังหวัดหนองบัวลำพูน แม่ฮ่องสอน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เราจะเห็นว่ามันห่างกันมาก ประมาณ 30 เท่า เป็นเรื่องที่เราต้องรณรงค์กันว่าผู้ที่ปล่อยของเสียเยอะจะมีส่วนรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

“ถ้าที่บ้านผมเอง ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีการออกแบบบ้านให้ประหยัดพลังงาน ปลูกผักกินเอง ซึ่งช่วยลดจำนวนครั้งที่ต้องออกจากบ้าน ทำบ่อเก็บน้ำฝน และยังรอรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ้าเสร็จแล้วก็จะลดการใช้รถยนต์ได้ ผมอยากบอกว่า มันสนุกนะครับกับการบริโภคอย่างมีจิตสำนึกและรู้จักวางแผน สิ่งเหล่านี้คุณไม่สามารถจะไปหาซื้อได้ในห้างสรรพสินค้า แต่มันคืออนาคตชีวิตคุณเอง”

+++ เคล็ดลับง่ายๆ +++
การสร้างบ้านประหยัดพลังงาน ที่เหมาะกับเมืองร้อนอย่างบ้านเรา
       1) ทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศรับแดดช่วงบ่ายก่อนที่เราจะกลับมาถึงบ้าน
ซึ่งมีวิธีป้องกัน เช่น ปลูกต้นไม้ ทำแผงบังแดด เอาห้องน้ำ บันได ห้องเก็บของ
ไปไว้ทางทิศตะวันตก ก็จะเป็นเหมือนฉนวนไปด้วยในตัว

       2) หลังคาที่จะเป็นตัวเก็บความร้อน ใส่ใจศึกษาข้อมูลสักนิด
สมัยนี้มีเทคโนโลยีหลายประเภทที่จะทำให้อากาศไหลผ่านหลังคา
บ้าน ดร. เดชรัต ใช้วิธีติดตั้งโฟมอยู่ข้างในหลังคา ทำให้มันไม่ค่อย
ผ่านความร้อนลงมาสู่ด้านล่าง

       3) ทำอย่างไรให้มีลมไหลผ่าน ซึ่งมีวิธีการที่สำคัญก็คือ
การเปิดช่องหน้าต่างและประตูทั้งหลาย เพราะบางครั้งแม้อุณหภูมิไม่สูง
แต่ถ้าอากาศไม่ไหลเวียน เจอภาวะอบอ้าว เราจะรู้สึกไม่สบายตัว
เพราะฉะนั้นควรออกแบบบ้านให้ความชื้นและเหงื่อในร่างกายได้ระบายออกไป


-2-
วิกฤติข่าวสารสิ่งแวดล้อม : ถึงเวลาเปิดตาและเปิดใจรับรู้ข้อมูล
เรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผลกระทบส่งผลต่อตัวเอง อีกทั้งเมื่อพื้นที่ของข่าวสารข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในสื่อต่างๆ ทุกวันนี้ ถูกยึดด้วยข่าวการเมือง บันเทิง อาชญากรรม ฯลฯ ก็ยิ่งดูเหมือนเราจะไกลห่างจากสิ่งแวดล้อมขึ้นทุกที ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเปิดใจและใส่ใจกับสิ่งรอบตัวดูบ้าง


นิรมล มูนจินดา บรรณาธิการหนังสือเล่มมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับข่าวสารและการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ ทุกๆ 20 นาที สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตจะหายไปจากโลก 1 ชนิด เป็นปรากฏการณ์ที่ถือเป็นอันตรายมาก แต่น้อยคนนักจะสนใจ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นตรงหน้า

"สิ่งที่ดูเหมือนไกลตัว แท้จริงมันใกล้ตัวมาก ถ้าสัตว์หรือพืชอื่นๆ อยู่ไม่ได้ เราจะอยู่ได้หรือเปล่า คนเราไม่สามารถสังเคราะห์แสง สร้างอาหารเองได้ เพราะฉะนั้นการสนใจสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ หรือสนใจภยันตรายของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนด้วยกันเอง เช่น ประชาชนที่ระยอง หรือสัตว์อื่นๆ มันเป็นเรื่องสำคัญมาก

"มีงานวิจัยของอาจารย์จากประเทศอังกฤษ เขาเก็บขยะตามชายหาดตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาจนเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และพบว่าขยะที่อยู่ที่ชายหาด จากที่เคยเป็นพลาสติก เป็นถุงหรือเป็นขวด มันเล็กลงๆ ทุกที จากที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า พลาสติกมันกร่อนโดยธรรมชาติจนเป็นเม็ดเล็กมากๆ จนต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง มันหมายถึงว่าขยะเล็กๆ เหล่านี้พบในสัตว์เล็กๆ ที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเช่นกัน เช่น แพลงตอน ซึ่งคนเรากินปลาจากทะเล และปลาเหล่านี้ก็กินสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อยู่ในทะเล ก็เท่ากับว่าเราก็กินถุงพลาสติกที่เราทิ้งไปนั้นเอง มันกระจายไปในระบบนิเวศแล้ว ดิฉันรู้สึกว่าข้อมูลเล็กๆ เหล่านี้ไม่มีใครมาต่อเป็นภาพใหญ่ให้เราเห็น มันช่างขัดสนไปหมดในพื้นที่สาธารณะ เพราะสื่อต่างๆ อาจจะไม่เห็นความสำคัญ

“และไม่ใช่เฉพาะข่าวสาร แต่หมายถึงการเรียนรู้ด้วย ในบ้านเรา ในสังคมเมือง ยังไม่ค่อยตื่นเต้นกัน เช่น เคยสังเกตไหมว่าบริเวณบ้านเรามีรังนกหรือเปล่า มีนกกี่ชนิด การที่บ้านแต่ละหลังมีหรือไม่มีนก มันมีเหตุปัจจัยอะไร เมื่อเราเห็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าไลเคนเกาะอยู่บนต้นไม้มันบอกอะไรเรา และมันจะเชื่อมโยงอะไรกับตัวเรา ในแง่ของคนที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม คิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ปัจเจกแต่ละคนมองเห็นภาพใหญ่ทั้งหมดได้

“อย่างเรื่องเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นเรื่องของพื้นที่ใบหน้าส่วนบุคคล แต่ที่จริงมันกระทบส่วนรวม มีผลการสำรวจจากต่างประเทศพบว่าในครีมกันแดดนั้นมีสารเคมีเยอะมาก และในแต่ละปีมีครีมกันแดดของคนที่ไปว่ายน้ำเจือปนในทะเลมากถึง 4,000-6,000 ตัน ซึ่งมีส่วนที่ทำให้ปะการังฟอกขาว

“นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องสำอางหลายยี่ห้อเขาทดลองกับสัตว์ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีสาวๆ รู้บ้างไหมว่า หนึ่งป้ายที่เพิ่มความสวยบนหน้าเรา มันมาจากความทรมานของสัตว์ กระต่ายที่ถูกขังกรงแออัดโผล่ออกมาแค่หัว จะถูกป้ายเครื่องสำอางที่ขอบตาจนระคายเคืองและเป็นแผลถึงขั้นตาบอด มีรายงานว่ามันร้องอย่างเจ็บปวดทุกครั้งที่ถูกป้ายตา และพยายามหนีออกจากช่องเล็กๆ ที่มันอยู่จนคอหักตาย

เมื่อเรารู้สึกว่าทุกสิ่งที่เราทำมันส่งผลกระทบ เราจะระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น รู้จักเลือกผลิตภัณฑ์มากขึ้น รู้จักพกถุงผ้าติดตัว เพราะสิ่งที่เราทำมีความหมายเสมอ คือ มันรวมทุกแง่ในแง่บวกและลบ การทิ้งทุกพลาสติกชิ้นเดียวอาจทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ แต่ขณะเดียวกันที่เราเริ่มเปลี่ยนแปลง มันก็จะเป็นกองใหญ่ๆ ที่เป็นบวก มันจะช่วยซ่อม ช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์บางอย่างได้”


-3-
วิกฤติอาหาร : แรงบันดาลใจสู่การพึ่งพาตนเอง
นอกจากการบริโภคอย่างรู้คิดแล้ว การพึ่งพาตนเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เรื่องที่เราเคยพึ่งพาตัวเองได้ตั้งแต่สมัยโบราณ อย่าง “อาหาร” ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในครอบครองของนักธุรกิจไปหมด สิ่งนี้ทำให้ใครบางคนลุกขึ้นมาสร้างวิถีทางอาหารให้ตนเองและกำลังเป็นแรงบันดาลใจให้คนในสังคม

นคร ลิมปคุปตถาวร นักวิชาการอิสระประจำโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ฉายภาพให้เห็นว่า “วิกฤติความมั่นคงทางอาหาร” กำลังคืบคลานเข้ามาหาคนยุคนี้เนื่องจากแหล่งพลังงานที่เริ่มร่อยหรอลงทุกที

“มีคนบอกว่า ปัจจุบันน้ำมันกำลังจะหมดโลก มาปลูกพืชพลังงานกันดีกว่า กลายเป็นว่าตอนนี้รังสิต ปทุมธานี นาข้าวเป็นปาล์มไปหมดเลยนะครับ คนอาจจะเห็นว่าอนาคตดี น้ำมันขายโรงงานมีมูลค่า ชาวสวนก็น่าจะรวยขึ้น แต่อย่าลืมว่า น้ำมันมันกินไม่ได้นะครับ นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต คือพื้นที่อาหารกับพื้นที่พลังงานจะซ้อนทับกัน เมื่อก่อนมันไม่ทับซ้อนกันเพราะน้ำมันมันก็อยู่ใต้โลก อาหารก็อยู่บนดิน แต่ตอนนี้พื้นที่อาหารหายไป

“อีกปัจจัยที่ทำให้วิกฤติอาหารใกล้ตัวมาก คือเรื่องสภาพอากาศ เห็นเลยว่าวันเดียวมีหลายฤดูมาก ซึ่งอาหารมันโตด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ แสงแดด ถ้าฤดูกาลเปลี่ยน อาหารเราก็เปลี่ยน แต่คนทั่วไปก็ยังคิดว่า ไม่เห็นต้องกังวล ในตลาดยังมีกะหล่ำปลีอยู่เลย แต่อย่าลืมว่านั่นไม่ได้เป็นของธรรมชาตินะ มันมีสารเคมีที่ตกค้างอยู่ เพราะเขาต้องใช้เพื่อไปควบคุมมัน

“มีคนถามว่า ทำไมต้องปลูกกินเอง อยู่เมืองมีเงินซื้อเอาก็ได้ ของดีๆ ก็ซื้อได้ แต่ผมปลูกแล้วพบความจริงว่า ผักที่เราปลูกเอง ทิ้งไว้ 5 วันยังไม่เน่าเลย มีแค่กลิ่นเหม็นเขียวธรรมดา แต่ผักในตลาดมันจะเหม็นเหมือนน้ำเน่า เพราะมีสารเคมี ซึ่งนี่คือสิ่งที่เรากินเข้าไป และรสชาติก็ต่างกันด้วย มันสดอร่อยกว่ามาก หวานกรอบกว่า

“และผมก็พบอีกว่า ปลูกผักนี่มันถูกกว่าซื้อเขากินจริงๆ นะ สมมติซื้อตะไคร้กำละ 5 บาท เดือนหนึ่ง ปีหนึ่งเท่าไหร่ แต่ถ้าเราซื้อต้นตะไคร้มาปลูก ต้นละ 20 บาท เราก็มีกินทั้งปีแล้ว ต้นหนึ่งไม่ถึงสลึงเลยครับ อันนี้ผักทั่วไป ยังไม่ต้องพูดถึงผักอินทรีย์ที่ขายตามห้างเลย ถุงหนึ่งมีน้อยมากแถมราคาแพงมาก เราปลูกเองถูกกว่าอยู่แล้ว

“นอกจากนี้ พืชผักที่เราปลูกก็กลายเป็นของใช้ได้ด้วย ผมปลูกถั่วเขียว และผมก็เอาไปบดทำสบู่ เป็นภูมิปัญญาโบราณครับ ซึ่งวิธีก็ง่ายมาก ใช้ถั่วเขียวที่เรากินมาบดด้วยเครื่องปั่นหรือครก ผสมน้ำแล้วถูนิดหน่อย พอล้างแล้วผิวเราจะลื่นนิดหน่อย ซึ่งในถั่วมีสารชำระล้างทำความสะอาด

“ปลูกผักกินเองง่ายกว่าที่เราคิดเยอะ บางคนบอกว่าปลูกยังไงก็ไม่ขึ้น ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าธรรมชาติมันส่งผลถึงกันหมด ก่อนจะปลูกผักต้องดูก่อนว่าดินดีหรือยัง ชีวิตครึ่งหนึ่งของผักเขาอยู่กับดิน เพราะเขากินน้ำเองไม่ได้ แต่รากเขาอยู่กับดิน เพราะฉะนั้นถ้าดินดีนี่ดีทุกอย่างเลย

“สิ่งที่ผมทำคือไม่ต้องถึงขนาดไม่พึ่งคนอื่น แต่เราก็พึ่งตัวเองได้มากขึ้น และที่สำคัญ ผมคิดว่าการที่เราทำอะไรอย่างตั้งใจจริง มันจะพาเราไปเจอคนที่ทำแบบเดียวกัน และจะรวมกลุ่มกันเป็นสังคมที่มีคนทำเรื่องดีงามเหมือนกัน ขยายไปมากขึ้น และทำให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้น”

+++เคล็ดลับง่ายๆ+++
วิธีทำให้ดินดีไม่ยากเลย
ลองไปดูต้นไม้ตามธรรมชาติสิ

ดินเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกบำรุงด้วยปุ๋ยแต่อย่างใด
แต่เพราะมันถูกทับถมโดยธรรมชาติ
ถ้าที่บ้านเราก็กวาดใบไม้ กิ่งไม้ที่ร่วงหล่นรวมไว้ หาตะแกรงมาครอบ
มีเศษอาหารในบ้านเหลือก็เททับลงไป รดน้ำให้ชุ่ม ขึ้นไปเหยียบให้แน่น
ทิ้งไว้เดือนหนึ่ง โกยเอาข้างใต้ออกมาก็ได้ปุ๋ยหมักแล้ว

ที่มา: http://www.greenworld.or.th/


วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

    ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญที่มักจะเกิดควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือ การพัฒนายิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภาวะมลพิษก็ยิ่งก่อตัวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้มีการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรมลง และปัญหาต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศ จึงทรงให้มีการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุงและปรับปรุงสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ โดยในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ทรงเน้นงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาน้ำเน่าเสีย



พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญได้แก่ หลักการ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" หลักการบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด และ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งมีสาระโดยสรุปดังนี้คือ
๑) ทฤษฎี "น้ำดีไล่น้ำเสีย" ได้ทรงนำหลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจางตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นการใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสีย ดังพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในอำเภอธัญบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒
"…แต่ ๓,๐๐๐ ไร่นั่นมันอยู่สูง จะนำน้ำโสโครกจากที่นี่ไปที่โน้นต้องสูบไปไม่ไหว แต่ว่าจะทำเป็นบึงใหญ่ที่จะเก็บน้ำได้สำหรับเวลาหน้าน้ำมีน้ำเก็บเอาไว้ หน้าแล้งก็ปล่อยลงมา ส่วนหนึ่งอาจปล่อยลงมาสำหรับล้างกรุงเทพ ได้เจือจางน้ำโสโครกในคลองต่างๆ…" (สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม, ๒๕๓๔: ๓๑-๒)
อีกทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริโดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งเข้าไปตามคลองต่างๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ และคลองบางลำภู เป็นต้น โดยกระแสน้ำจะไหลแผ่กระจายขยายไปตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นเมื่อทำการปล่อยน้ำให้ไหลเวียนจากปากคลองไปปลายคลองได้อย่างเหมาะสม ก็ย่อมจะช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียได้มากโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง (สำนักงาน กปร., ๒๕๔๐: ๑๐๑)
๒) การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว เช่น บึงและหนองต่างๆ เพื่อทำเป็นแหล่งบำบัดน้ำเสีย โดยหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ โครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการบำบัดน้ำเสีย ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา
๓) การบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบเติมอากาศ ด้วยทรงห่วงใยในปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นในหนองหนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำเสียจากครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร ที่มีสภาพเกินขีดความสามารถในการรองรับของเสีย พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ณ บริเวณหนองสนม-หนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวิธีธรรมชาติกับเทคโนโลยีแบบประหยัด โดยมีกรมประมงร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการศึกษาและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในบริเวณดังกล่าว โดยมีระบบบำบัดด้วยพืชน้ำซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติในพื้นที่ ๘๔.๕ ไร่ และได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ (สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, ๒๕๓๙: ๒๒๒)
๔) การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาภาวะมลพิษที่มีผลต่อการดำรงชีพของประชาชน อันเนื่องมาจากชุมชนเมืองต่างๆ ยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยที่ดีและมีประสิทธิภาพ จึงทรงให้มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ ๑,๑๓๕ ไร่ โดยเป็นโครงการศึกษาวิจัยวิธีการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอยและการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีธรรมชาติ
๕) กังหันน้ำชัยพัฒนา ในปัจจุบัน สภาพมลภาวะทางน้ำมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องกลเติมอากาศเพิ่มออกซิเจนเพื่อการบำบัดน้ำเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอุปกรณ์การเติมอากาศ และทรงค้นคิดทฤษฎีบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ โดยใช้วิธีทำให้อากาศสามารถละลายลงไปในน้ำเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและการเพาะตัวอย่างรวดเร็วของแบคทีเรียจนมีจำนวนมากพอที่จะทำลายสิ่งสกปรกในน้ำให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งเป็นรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย ประหยัด เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม และได้มีการนำไปใช้งานทั่วประเทศ (สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, ๒๕๓๙: ๒๑๘-๙)


๖) การกำจัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษา ทดลองวิจัยดูว่า จะใช้ปลาบางชนิดกำจัดน้ำเสียได้หรือไม่ ปลาเหล่านี้น่าจะเข้าไปกินสารอินทรีย์ในบริเวณแหล่งน้ำเสีย ซึ่งปรากฎว่าปลาบางสกุลมีอวัยวะพิเศษในการหายใจ เช่น ปลากระดี่ ปลาสลิด เหมาะแก่การเลี้ยงในน้ำเสีย และชอบกินสารอินทรีย์ จึงช่วยลดมลภาวะในแหล่งน้ำ วิธีการนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดน้ำเสียได้ ซึ่งจะมีต้นทุนต่ำ และสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำได้อีกทางหนึ่ง (สำนักงาน กปร., ๒๕๓๑: ๕๒)
ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณในด้านการพัฒนาการเกษตร (Agricola Medal) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอุทิศพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะผู้ซึ่งประกอบอาชีพเพาะปลูก บำรุงรักษาน้ำ และบำรุงรักษาป่า ซึ่งทรงยึดหลัก "สนับสนุนการพัฒนาแบบยั่งยืนเพื่อความมั่นคงในอนาคต" เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้ประจักษ์ชัดเจนจากความสำเร็จในด้านการพัฒนา โดยองค์การฯ สดุดีพระองค์ว่า ทรงพระปรีชาสามารถเกี่ยวกับความยุติธรรมของสังคม ซึ่งได้ปรากฏเห็นเป็นตัวอย่างจากนโยบายเรื่องการแบ่งที่ดินทำกินเพื่อเกษตรกรและผู้ทำนุบำรุงรักษาป่า ทรงวิริยะอุตสาหะในเรื่องการกักเก็บน้ำให้เพียงพอเพื่อประกันผลผลิตอาหาร การอนุรักษ์สันปันน้ำและป้องกันการกัดเซาะผิวดิน ทรงสนับสนุนเผยแพร่การเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งรวบรวมแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และขยายพันธุ์สัตว์ให้เจริญเติบโตขึ้น ตลอดจนการบำรุงผิวดิน ทรงมีพระอุตสาหะอันสูงส่งในการสงวนรักษาพันธุ์พืช ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติในการค้นคว้าเรื่องอาหาร ทั้งนี้ เนื่องจากทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลในการที่จะทำให้โลกปราศจากความหิวโหย และประชาชนมีอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิต




วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เสียงจากคนรักผีเสื้อ ก่อนราชินีแห่งแมลงสูญพันธุ์




              "ถ้าถามว่าดูผีเสื้อไปทำไม นอกจากฝึกเรื่องความอดทนและทำให้จิตใจผ่อนคลายจากสีสันสวยงาม ผมคิดว่าความสวยงามของผีเสื้อเป็นกุศโลบายให้คนรักธรรมชาติ เพราะผีเสื้อเป็นดัชนีบอกความอุดมสมบูรณ์ธรรมชาติ วงจรชีวิตพวกมันผูกพันกับดอกไม้ และต้นไม้ ถ้าเราพบผีเสื้อมาก บ่งชี้ได้ว่าป่าไม้บริเวณนั้นสมบูรณ์ ถ้ารักผีเสื้อต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่า เวลานี้ผีเสื้อหายาก ลดจำนวนลงมาก บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว ขอไว้ทุกข์ให้ผีเสื้อสมิงเชียงดาวของไทยด้วย เชื่อว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ความสวยงามและความหายากของเขา ทำให้เป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก" สินธุยศ จันทรสาขา สมาคมรักษ์ปางสีดา เล่าถึงการส่งเสริมการชมผีเสื้อหลังมีกระแสอนุรักษ์ผีเสื้อตามผืนป่า ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญผีเสื้อ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และส่งเสริมผีเสื้อล้อมวงกันในงานเสวนาวิชาการเรื่อง "แนวทางการอนุรักษ์และส่งเสริมกิจกรรมชมผีเสื้อในประเทศไทย" ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อแสวงหาลู่ทางสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ผีเสื้อให้เข้มแข็ง และขอให้สงวนรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของผีเสื้อในพื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนแหล่งพืชอาหารอื่นๆ เนื่องจากผีเสื้อเริ่มมีแนวโน้มลดลงในพื้นที่ป่าหลายแห่ง และหลายชนิดที่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์
     สำหรับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์ที่จะก่อให้เกิดฝูงผีเสื้อบินมาสู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่สวนสาธารณะในเมืองนั้น ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติเสนอว่า ต้องสร้างแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของผีเสื้อให้สมบูรณ์ เช่น สร้างโป่งผีเสื้อ ปรับปรุงโป่งผีเสื้อ ส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงผีเสื้ออย่างจริงจังบนพื้นฐานงานศึกษาวิจัย สร้างความชื้นในอากาศและดินตามแหล่งอาศัยผีเสื้อให้เพิ่มขึ้น โดยการปลูกพืชอาหารของผีเสื้อและของหนอนผีเสื้อ ตลอดจนรักษาความสมบูรณ์ของป่าเขา มองว่าต้องมีการศึกษาลึกถึงวงจรชีวิตของผีเสื้อและแหล่งอาหารของผีเสื้อ ความหนาแน่นของจำนวนประชากร และจำนวนพันธุ์ นอกจากจากศึกษาด้านอนุกรมวิธาน โดยกำหนดเขตศึกษาวิจัยในพื้นที่อุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์ฯ พร้อมมีระเบียบการศึกษาวิจัยเรื่องผีเสื้อที่เหมาะสม งานวิจัยจะได้ไม่กระทบสภาพที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของผีเสื้อตามธรรมชาติ ในการเสวนาครั้งนี้ที่จัดโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ประชุมเสนอให้จัดทำโครงการ "ปากประตูสู่อุทยานแห่งชาติ" ร่วมมือกันจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น อุทยานผีเสื้อและแมลง กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ปทุมธานี และอุทยานแห่งชาติที่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนเสนอให้มีการจัดทำเอกสารเผยแพร่ทางวิชาการเฉพาะเรื่อง เช่น วารสารเกี่ยวกับการศึกษาผีเสื้อ และจัดนิทรรศการเคลื่อนที่เรื่องผีเสื้อ กระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจเรื่องของผีเสื้อเพิ่มขึ้น พร้อมกับส่งเสริมให้จัดกิจกรรมชมผีเสื้อกับกลุ่มคนทุกระดับ นอกจากนี้จะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เป็นช่องทางประสานงานร่วมกันในอนาคต        ต้องติดตามโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การอนุรักษ์ผีเสื้อราชินีแห่งแมลง จึงเป็นวาระสำคัญของชาติที่จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ทุกคนสนใจ ช่วยกันอนุรักษ์หวงแหนสิ่งแวดล้อม และรักษาป่าเขาลำเนาไพร ให้ผีเสื้อสวยงามได้อาศัยขยายพันธุ์และให้ความสุขแก่ผู้พบเห็น.  



ที่มา: http://www.thaipost.net/sunday/260611/40741