วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เสียงจากคนรักผีเสื้อ ก่อนราชินีแห่งแมลงสูญพันธุ์




              "ถ้าถามว่าดูผีเสื้อไปทำไม นอกจากฝึกเรื่องความอดทนและทำให้จิตใจผ่อนคลายจากสีสันสวยงาม ผมคิดว่าความสวยงามของผีเสื้อเป็นกุศโลบายให้คนรักธรรมชาติ เพราะผีเสื้อเป็นดัชนีบอกความอุดมสมบูรณ์ธรรมชาติ วงจรชีวิตพวกมันผูกพันกับดอกไม้ และต้นไม้ ถ้าเราพบผีเสื้อมาก บ่งชี้ได้ว่าป่าไม้บริเวณนั้นสมบูรณ์ ถ้ารักผีเสื้อต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่า เวลานี้ผีเสื้อหายาก ลดจำนวนลงมาก บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว ขอไว้ทุกข์ให้ผีเสื้อสมิงเชียงดาวของไทยด้วย เชื่อว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ความสวยงามและความหายากของเขา ทำให้เป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก" สินธุยศ จันทรสาขา สมาคมรักษ์ปางสีดา เล่าถึงการส่งเสริมการชมผีเสื้อหลังมีกระแสอนุรักษ์ผีเสื้อตามผืนป่า ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญผีเสื้อ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และส่งเสริมผีเสื้อล้อมวงกันในงานเสวนาวิชาการเรื่อง "แนวทางการอนุรักษ์และส่งเสริมกิจกรรมชมผีเสื้อในประเทศไทย" ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อแสวงหาลู่ทางสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ผีเสื้อให้เข้มแข็ง และขอให้สงวนรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของผีเสื้อในพื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนแหล่งพืชอาหารอื่นๆ เนื่องจากผีเสื้อเริ่มมีแนวโน้มลดลงในพื้นที่ป่าหลายแห่ง และหลายชนิดที่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์
     สำหรับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์ที่จะก่อให้เกิดฝูงผีเสื้อบินมาสู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่สวนสาธารณะในเมืองนั้น ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติเสนอว่า ต้องสร้างแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของผีเสื้อให้สมบูรณ์ เช่น สร้างโป่งผีเสื้อ ปรับปรุงโป่งผีเสื้อ ส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงผีเสื้ออย่างจริงจังบนพื้นฐานงานศึกษาวิจัย สร้างความชื้นในอากาศและดินตามแหล่งอาศัยผีเสื้อให้เพิ่มขึ้น โดยการปลูกพืชอาหารของผีเสื้อและของหนอนผีเสื้อ ตลอดจนรักษาความสมบูรณ์ของป่าเขา มองว่าต้องมีการศึกษาลึกถึงวงจรชีวิตของผีเสื้อและแหล่งอาหารของผีเสื้อ ความหนาแน่นของจำนวนประชากร และจำนวนพันธุ์ นอกจากจากศึกษาด้านอนุกรมวิธาน โดยกำหนดเขตศึกษาวิจัยในพื้นที่อุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์ฯ พร้อมมีระเบียบการศึกษาวิจัยเรื่องผีเสื้อที่เหมาะสม งานวิจัยจะได้ไม่กระทบสภาพที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของผีเสื้อตามธรรมชาติ ในการเสวนาครั้งนี้ที่จัดโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ประชุมเสนอให้จัดทำโครงการ "ปากประตูสู่อุทยานแห่งชาติ" ร่วมมือกันจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น อุทยานผีเสื้อและแมลง กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ปทุมธานี และอุทยานแห่งชาติที่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนเสนอให้มีการจัดทำเอกสารเผยแพร่ทางวิชาการเฉพาะเรื่อง เช่น วารสารเกี่ยวกับการศึกษาผีเสื้อ และจัดนิทรรศการเคลื่อนที่เรื่องผีเสื้อ กระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจเรื่องของผีเสื้อเพิ่มขึ้น พร้อมกับส่งเสริมให้จัดกิจกรรมชมผีเสื้อกับกลุ่มคนทุกระดับ นอกจากนี้จะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เป็นช่องทางประสานงานร่วมกันในอนาคต        ต้องติดตามโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การอนุรักษ์ผีเสื้อราชินีแห่งแมลง จึงเป็นวาระสำคัญของชาติที่จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ทุกคนสนใจ ช่วยกันอนุรักษ์หวงแหนสิ่งแวดล้อม และรักษาป่าเขาลำเนาไพร ให้ผีเสื้อสวยงามได้อาศัยขยายพันธุ์และให้ความสุขแก่ผู้พบเห็น.  



ที่มา: http://www.thaipost.net/sunday/260611/40741 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น