วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รักษ์หาดประวัติศาสตร์ ร่วมฟื้นธรรมชาติคู่เมือง




วันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) สงขลา ซึ่งมีพื้นที่ติดกับหาดสงขลา หาดประวัติศาสตร์ประจำเมืองมากว่า 200 ปี ควรค่าที่เยาวชนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้ธรรมชาติ คุณค่าของหาดทราย ตลอดทั้งแนวทางฟื้นฟูที่ถูกต้องและเหมาะสมอย่างยั่งยืน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนสงขลามองเห็นการเปลี่ยนแปลงและการพังทลายของหาดทรายที่รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานต่างๆ พยายามดูแลนับตั้งแต่การทำเขื่อนหินตัวที โยนหินก้อนใหญ่ราดซีเมนต์หยาบๆ ทับแล้วคลุมด้วยตาข่าย สุดท้ายมรดกทางธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่กำลังจะถูกดัดแปลงให้แตกต่างไปจากเดิม

มทร.ศรีวิชัย ที่เน้นการเรียนการสอน บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒน ธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หาดสงขลาเปรียบเสมือนหน้าบ้านของมหาวิทยาลัย จึงเกิด "แลเล....แลหาดสงขลา" กิจกรรมที่ มทร.ศรีวิชัย จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้น และต้องการปลุกจิตสำนึกของเยาวชนและประชาชนให้หันกลับมารักและหวงแหนหาดซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติที่งดงาม รวมไปถึงการหาแนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูหาดและเยียวยาหาดทราย กิจกรรมภายในงานที่สำคัญ คือ การสำรวจและเรียนรู้สถานการณ์หาดสงขลา การนำเสนอผลการสำรวจและข้อเสนอต่อการฟื้นฟูหาดสงขลา พิธีขอขมาคารวะทะเลโดยการบูชาทะเล เป็นต้น



นายธนกร สันบุกา นักเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ อ.เมือง จ.สงขลา กล่าวว่า จากการร่วมสำรวจชายหาด พบว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมาก มีสิ่งที่ไม่ควรอยู่มาอยู่บนหาดทรายขาวๆ เช่น หินก้อนใหญ่ ขดลวด ทำให้หาดดูสกปรก ไม่สวยงาม

นายจิรชาติ ตันติลานนท์ นักเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ อ.เมือง จ.สงขลา กล่าวว่า สมัยก่อน หาดจะสวย และกว่าจะเดินจากถนนไปถึงทะเลชายหาดค่อนข้างกว้างไกล แต่ตอนนี้ชายหาดโดนน้ำกัดเซาะทำให้ขนาดของหาดแคบลงแล้ว

น.ส.ระวีวรรณ พรรณราย นักศึกษา มทร. ศรีวิชัย กล่าวว่า ชายหาดกำลังป่วยจากน้ำมือของมนุษย์ ขณะที่เดินไปตามเส้นทางสำรวจได้พบสิ่งผิดปกติหลายอย่าง เช่น กรงเหล็กตาข่าย ก้อนหินก้อนใหญ่มากั้นเพื่อไม่ให้น้ำกัดเซาะดิน เป็นภาพที่ไม่น่ามอง ไม่ใช่ธรรมชาติของทะเล อาจเกิดจากการเข้าใจผิดของมนุษย์ที่คิดว่าจะลดการกัดเซาะของดินได้ ทั้งที่ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง การเดินสำรวจชายหาดแบบจริงจังทำให้รู้สึกรักและหวงแหนชายหาด มากขึ้น

นายสรรเพชร เอียดแก้ว นักศึกษา มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า หาดสงขลาจะเป็นแบบขั้นบันได เปรียบเสมือนหน้าผาเล็กๆ ยิ่งเดินสำรวจเส้นทางก็ยิ่งแคบลง ต้นสนล้มหลายต้น น้ำกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น ทำให้ชายหาดจากที่เคยกว้างใหญ่กลับแคบลง




หากไม่เร่งรีบที่จะแก้ปัญหา ถึงเวลาที่เราอาจต้องสูญเสียมรดกทางธรรมชาติคู่บ้านคู่เมืองของเราได้ คนสงขลาทุกฝ่ายจึงต้องหันมาผสานใจ ศึกษาและทำความเข้าใจสร้างพลังแห่งการเรียนรู้ สู่พลังทางสังคม หาทางผลักดันให้เกิดแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมในการฟื้นฟูและเยียวยาหาดสงขลา ให้กลับมาสวยงามและอุดมสมบูรณ์ดังเดิม


ที่มา:วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7504 ข่าวสดรายวัน หน้า 26

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น