วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หญ้าแฝกกำแพงมีชีวิต ฟื้นฟูดินและน้ำ-คืนความสมบูรณ์สิ่งแวดล้อม





การชะล้างพังทลายของดินเป็นปัญหาที่สำคัญต่ออาชีพเกษตรกรรมของประเทศ ผลจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินอันเนื่องมาจากฝนตกหนัก และน้ำไหลบ่าอย่างรุนแรง ทำให้ผิวดินถูกกัดเซาะจนสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ เป็นเหตุให้ดินพังทลาย ส่งผลเสียหายต่อพื้นที่ทำการเกษตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงพระราชทานพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น จวบจนถึงปัจจุบัน "หญ้าแฝก" ได้พลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับผืนดิน นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ ให้เกษตรกรผู้ยากไร้ ได้มีที่ทำกินกันอย่างยั่งยืน

นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลการผลิตกล้าหญ้าแฝกเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรและประชาชนได้นำไปปลูก ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการ ทั้งในเรื่องการพัฒนาสาย พันธุ์หญ้าแฝกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งการขยายพันธุ์ให้เพียงพอสำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน ส่งเสริมการปลูกเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ แก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น นอกจากนี้ กรมฯยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.), มูลนิธิชัยพัฒนา ในการรณรงค์กระจายพันธุ์หญ้าแฝกไปยังสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังจัดงานประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้หันมาสนใจและเห็นถึงคุณประโยชน์ของการนำหญ้าแฝกไปใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำกันมากขึ้น

"การนำหญ้าแฝกไปปลูกในพื้นที่ที่ปลูกไม้เศรษฐกิจอย่างเช่นยางพารา หรือบนพื้นที่เกษตรที่มีความลาดชัน เช่น ภูเขา สามารถช่วยป้องกันหน้าดินไม่ให้พังทลายได้ หญ้าแฝกมีประโยชน์มากในการอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงอยากรณรงค์ให้เกษตรกรและประชาชนหันมาสนใจในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกมากขึ้น เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ แล้วตอนนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมในการปลูกหญ้าแฝกได้ผลดี มีอัตราการรอดสูง" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

ด้าน ดร.พิทยากร ลิ่มทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ ศูนย์ปฏิบัติการหญ้าแฝก กรมพัฒนาที่ดินกล่าวถึงพันธุ์หญ้าแฝกซึ่งมีอยู่มากมายว่าพันธุ์หญ้าแฝกที่นักวิชาการค้นพบเก็บรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2536 จากทั่วประเทศ ในตอนแรกมีประมาณ 40 พันธุ์ด้วยกัน จากนั้นเมื่อนำมาศึกษาในเชิงวิชาการแล้วจำแนกพันธุ์ใหม่ ก็คัดเลือกมาได้ 28 สายพันธุ์ และได้ทำการคัดเลือกต่อ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งไว้ว่าควรจะต้องคัดสายพันธุ์ที่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและต้องเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตได้ดีมีความแข็งแรง เพื่อจุดประสงค์หลักในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และจากการคัดเลือกในครั้งนั้นก็ทำให้เหลือพันธุ์หญ้าแฝกที่มีลักษณะเด่นสามารถนำไปปลูกตามความเหมาะสมของพื้นที่ต่างๆในประเทศไทยจำนวน 10 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยแบ่งเป็นออกเป็น 2 ชนิด คือ แฝกลุ่มและแฝกดอน ซึ่งพันธุ์ลุ่มที่ตั้งชื่อตามสถานที่ที่พบคือ พันธุ์ศรีลังกา,กำแพงเพชร,สุราษฏร์ธานี,สงขลาและพันธุ์ดอน คือพันธุ์เลย,นครสวรรค์,กำแพงเพชร1,ร้อยเอ็ด,ราชบุรี,ประจวบคีรีขันธ์

"แต่ละพื้นที่ แต่ละภาคเหมาะกับสายพันธุ์ต่างกัน พันธุ์ลุ่มไม่จำเป็นว่าจะต้องปลูกในที่ลุ่มเสมอไป แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ดอนด้วย ขณะเดียวกันพันธุ์ดอนก็ไม่จำเป็นต้องปลูกในที่ดอนอย่างเดียว แต่สามารถปลูกในที่ลุ่มได้เจริญเติบโตได้ดี ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแต่ละพันธุ์ เช่นพันธุ์ลุ่มนั้นค่อนข้างจะเจริญได้รวดเร็ว ตั้งตัวได้ดี มักจะชอบน้ำ แล้วก็ไม่ค่อยทนหากกระทบกับความแล้งมาก ๆ ในทางตรงข้ามพันธุ์ดอนจะเจริญเติบโตช้ากว่า แต่จะมีความทน สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีกว่า เก่งคนละอย่าง" ดร.พิทยากร กล่าว

ดร.พิทยากรกล่าวอีกว่า สำหรับระยะเวลาและฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกทั้งพันธุ์ลุ่มและพันธุ์ดอน ไม่แตกต่างกันมาก อยู่ที่การเตรียมดินให้ดี มีน้ำพร้อม ถ้าจะให้ดีต้องปลูกในช่วงต้นฤดูฝนเพราะจะทำให้หญ้าแฝกตั้งตัวได้เร็ว นอกจากนั้นเมื่อปลูกแล้วต้องดูแลในช่วงแรกด้วยการใส่ปุ๋ยหมักในช่วงปลูกและช่วงต้นฤดูฝนพร้อมทั้งกำจัดวัชพืชตามความเหมาะสม

"พันธุ์หญ้าแฝกที่ส่งเสริมกันอยู่ประมาณ 10 พันธุ์ แต่ที่ใช้จริงมีอยู่ไม่กี่พันธุ์ ส่วนมากแล้วจะใช้พันธุ์ลุ่มและพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือพันธุ์สุราษฎร์ธานีและสงขลา 3 อย่างภาคใต้ที่มีปัญหาเรื่องดินพังทลาย ก็จะใช้พันธุ์ลุ่ม เพราะมีน้ำมาก ฝนตกบ่อย และจะเลือกใช้พันธุ์ดอนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางที่ ในพื้นที่ที่เป็นดินทราย มีฝนตกน้อย ไม่สม่ำเสมอ"

นอกเหนือจากการแยกแยะสายพันธุ์ เพื่อให้สามารถนำไปปลูกได้ตามความเหมาะสมกับพื้นที่แล้ว กรมฯได้มีการจัดจำแนก แยกความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ด้วยการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบพันธุ์หญ้าแฝกในห้องปฏิบัติการ DNA เพื่อประโยชน์ในการจำแนกแต่ละสายพันธุ์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ในการจัดกลุ่มพันธุ์ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งนี้หน่วยงานราชการ นักวิชาการ นักวิจัยและผู้สนใจ สามารถส่งตัวอย่างหญ้าแฝกมาตรวจ DNA ได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการหญ้าแฝก กรมพัฒนาที่ดิน




ที่มา:หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2554 05:52:09 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น